Saturday, 18 May 2024
TODAY SPECIAL

18 พฤษภาคม พ.ศ. 2463 วันเกิด ‘อิศรา อมันตกุล’ นายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยคนแรก แบบอย่าง ‘นักหนังสือพิมพ์’ ผู้เคร่งครัดหลักจริยธรรมของวิชาชีพ

‘อิศรา อมันตกุล’ เดิมชื่อ อิบรอฮีม อะมัน ผู้มีฉายาว่า ‘นักบุญ’ เป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คนสำคัญของประเทศไทย และเป็นนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยคนแรก

โดย อิศรา อมันตกุล มักจัดหน้าและเขียนเองเป็นส่วนมาก เขามีความสามารถในการเขียนคอลัมน์และภาพประกอบได้อย่างดีพอสมควร เรื่องที่เขียนไม่ว่าเรื่องเล็กน้อย กระจุกกระจิกประการใด สำนวนโวหารมีเสน่ห์ชวนอ่านเสียทั้งสิ้น เขียนได้หลายแบบ ไม่เฉพาะนวนิยาย เรื่องสั้น เรื่องยาว สารคดีและคอลัมน์ต่าง ๆ ได้คล่องเท่ากัน

อิศรา อมันตกุล เกิดเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2463 เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวน 10 คน ของ นาย ม.ชาเลย์ และ นางวัน เรียนชั้นประถมศึกษา โรงเรียนบำรุงวิทยา และจบมัธยมศึกษาปีที่ 8 จาก โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ร่วมกับคณะมิชชันนารี ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ประมาณ 2 ปี จึงเดินทางกลับเข้ากรุงเทพมหานคร

อิศรา อมันตกุล มีความถนัดในการใช้ภาษาอังกฤษ เป็นผู้มีคะแนนยอดเยี่ยมทางภาษาอังกฤษในระดับประเทศ ผลงานคอลัมน์การใช้ภาษาอังกฤษ ใช้นามปากกา ‘แฟรงค์ ฟรีแมน’ นอกจากงานหนังสือพิมพ์แล้ว เขานิยมเสนอความคิดทางการเมืองในรูปแบบงานประพันธ์และวรรณกรรม

ผลงานด้านการประพันธ์ทั้งเรื่องสั้นและเรื่องยาวหลายชิ้นมีการนำเสนอความคิดทางการเมืองอย่างชัดเจน เช่น เขาตะโกนหานายกรัฐมนตรี, นาถยาและสถาพรผู้กลับมา และข้าจะไม่แพ้

อิศรา อมันตกุล ชอบทำงานอิสระของตนเองมากกว่าที่จะเข้าสังกัด ชีวิตหนังสือพิมพ์เริ่มต้นที่หนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ ประชามิตร ร่วมกับ กุหลาบ สายประดิษฐ์ และมาลัย ชูพินิจ และได้ร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์สุวัณณภูมิ ร่วมกับทองเติม เสมรสุต เป็นผู้ออกแบบตราสัญลักษณ์ของสมาคมนักข่าวในครั้งนั้น), วิน บุญอธึก, สว่างวงศ์ กรีบุตร, เสนีย์ เสาวพงศ์ และวิตต์ สุทธเสถียร

ภายหลังได้ทำหนังสือพิมพ์อีกหลายแห่ง เช่น หนังสือพิมพ์บางกอกรายวัน, หนังสือพิมพ์เอกราช, หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยเบื้องหลังข่าว, หนังสือพิมพ์บางกอกเดลิเมล์

อิศรา อมันตกุล ถูกอำนาจเผด็จการยุคนั้นจับกุมไปคุมขังที่เรือนจำลาดยาว ด้วยข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นเวลา 5 ปี 10 เดือน ได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระโดยไม่มีการฟ้องร้องศาลแต่อย่างใด ภายหลังได้ทำงานที่หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ชีวิตการต่อสู้เป็นแบบอย่างการทำข่าวเจาะ และเขาเป็นแบบอย่างของนักหนังสือพิมพ์ผู้เคร่งครัดในหลักจริยธรรมวิชาชีพ จนสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ นำชื่อมายกย่องตั้งเป็นชื่อ   ‘รางวัลอิศรา’ ให้กับผลงานข่าว ภาพข่าวยอดเยี่ยมประจำปี

“หนังสือพิมพ์ในสายตาของคนทั่วไปอาจเป็นเศษกระดาษ ซึ่งเมื่ออ่านเสร็จแล้วก็โยนทิ้งไป หรืออย่างดีก็เก็บเอาไว้ชั่งกิโลขายเจ๊ก ถึงอย่างไร ผมอยากจะกล่าวว่าหนังสือพิมพ์คือเอกสารทางประวัติศาสตร์สั้นต่อวัน สัปดาห์ต่อสัปดาห์ เดือนต่อเดือน ปีต่อปี นั่นเอง หนังสือพิมพ์วันนี้ ย่อมจะกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในวันหน้าไปอย่างแน่นอนมิพักต้องสงสัย” เป็นคำพูดของ อิศรา อมันตกุล

อิศรา อมันตกุล ถึงแก่กรรมเมื่อ 14 มีนาคม พ.ศ. 2512 ด้วยโรคมะเร็ง แต่แบบอย่างที่งดงามในความหนักแน่นต่อหลักจริยธรรม ความรักในเสรีภาพ และการต่อสู้ต่ออำนาจเผด็จการแม้แลกด้วยอิสรภาพของตนเอง เป็นแรงบันดาลใจให้เพื่อนร่วมวงการหนังสือพิมพ์ เสริมศรี เอกชัย (เรือใบ) เขียนถึงเขาไว้ในหนังสือวันนักข่าว 5 มีนาคม โดยชื่อบทความ อิศรา ตัวตายแต่ชื่อยัง

สำหรับมูลนิธิ อิศรา อมันตกุล นั้นก่อตั้งขึ้นมาได้สำเร็จด้วยความเสียสละร่วมกันของบุคคลต่าง ๆ มากมายหลายฝ่าย โดยมีความประสงค์ต้องตรงกันอยู่ที่เป้าหมายเดียวกันคือ ปณิธานที่จะเชิดชูเกียรติคุณของคุณอิศรา อมันตกุล ไว้ให้ปรากฎ เพื่อจะได้เป็นพลังให้แก่เพื่อนนักหนังสือพิมพ์และนักเขียนรุ่นหลัง และต่อมามูลนิธิอิศรา อมันตกุล ได้มอบหมายให้สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย (ต่อมายุบรวมกับสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2543) ดำเนินการจัดการประกวดรางวัลอิศรา อมันตกุล เพื่อให้รางวัลแก่ผลงานข่าว และภาพข่าวยอดเยี่ยมประจำปี โดยเริ่มต้นการประกวดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2515 และมีพิธีมอบรางวัลครั้งแรกในวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2516

17 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 ‘ในหลวง ร.9’ เสด็จฯ เปิด ‘เขื่อนภูมิพล’ เขื่อนอเนกประสงค์แห่งแรกในประเทศไทย

‘เขื่อนภูมิพล’ เป็นเขื่อนคอนกรีตโค้งขนาดใหญ่ สร้างปิดกั้นลำน้ำปิงที่บริเวณเขาแก้ว อำเภอสามเงา จังหวัดตาก เดิมเรียก ‘เขื่อนยันฮี’ ต่อมาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระปรมาภิไธยให้เป็นชื่อเขื่อน และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2504 โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างตัวเขื่อน ระบบส่งไฟฟ้า อาคารโรงไฟฟ้า และองค์ประกอบต่าง ๆ

ทั้งนี้ เขื่อนภูมิพล ถือเป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งแรกในประเทศไทย รองรับน้ำได้สูงสุด 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งนอกจากจะใช้ระบายไปเพื่อการเกษตร อุปโภคบริโภค ตลอดจนคมนาคมขนส่งแล้ว ยังใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า 

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิด เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 นอกจากจะช่วยหล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตรกว่า 10 ล้านไร่ ส่งเสริมอาชีพประมงเป็นมูลค่ากว่า 400 ล้านบาทต่อปี ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 64,000 ล้านหน่วย ยังเป็นเขื่อนที่ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัย และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้แก่ประชาชนในบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย

16 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ‘หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ’ ละสังขาร สิ้นตำนาน เทพเจ้าแห่งด่านขุนทด

วันนี้เมื่อ 9 ปีก่อน ซึ่งตรงกับวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 คือวันที่หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ แห่งวัดบ้านไร่ ด่านขุนทด ได้ละสังขารจากโลกนี้ไป เหลือไว้แต่คำสอนอมตะ ให้จารึกจดจำและปฏิบัติไปตลอดกาล

พระเทพวิทยาคม นามเดิม คูณ ฉัตร์พลกรัง หรือที่รู้จักในนาม หลวงพ่อคูณ พระเกจิอาจารย์ดัง อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 11 และอดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ ที่ลูกศิษย์ยกย่องเป็น ‘เทพเจ้าแห่งด่านขุนทด’

หลวงพ่อคูณ ถือกําเนิดที่บ้านไร่ ม.6 ต.กุดพิมาน อ.อ่านขุนทด จ.นครราชสีมา ในครอบครัวของชาวไร่ชาวนาที่อยู่ห่างไกลความเจริญ บิดาชื่อ นายบุญ ฉัตรพลกรัง มารดาชื่อ นางทองขาว ฉัตรพลกรัง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 ต.ค. 2466 มีพี่น้องทั้งหมด 7 คน บิดามารดาของหลวงพ่อคูณเสียชีวิตลงในขณะที่ลูก ๆ ยังเป็นเด็ก หลวงพ่อคูณกับน้อง ๆ จึงอยู่ในความอุปการะของน้าสาว สมัยที่หลวงพ่อคูณอยู่ในวัยเยาว์ได้เรียนหนังสือกับพระที่วัดบ้านไร่ ซึ่งเป็นสถานศึกษาแห่งเดียวในหมู่บ้าน นอกจากเรียนภาษาไทยและขอมแล้ว พระอาจารย์ยังได้สั่งสอนวิชาคาถาอาคมให้ด้วย

หลวงพ่อคูณอุปสมบท เมื่ออายุได้ 21 ปี ณ พัทธสีมาวัดถนนหักใหญ่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2487 โดยพระครูวิจารย์ดีกิจ อดีตเจ้าคณะอําเภอด่านขุนทด เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า 'ปริสุทโธ' หลังจากที่หลวงพ่อคูณอุปสมบทเป็นพระภิกษุเรียบร้อยแล้วท่านได้ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อแดง วัดบ้านหนองโพธิ์ ต.สํานักตะคร้อ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา หลวงพ่อคูณได้อยู่ปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่อแดงมานานพอสมควร หลวงพ่อแดงจึงพาหลวงพ่อคูณไปฝากตัวเป็น ลูกศิษย์หลวงพ่อคง พุทธสโร ซึ่งให้การศึกษาพระธรรมควบคู่กับการปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน หลังจากนั้นหลวงพ่อคูณได้ออกธุดงค์ จาริกอยู่ในเขต จ.นครราชสีมา รวมทั้งธุดงค์ไปไกลถึงประเทศลาว และกัมพูชา

หลังจากที่พิจารณาเห็นสมควรแก่การปฏิบัติแล้ว หลวงพ่อคูณจึงออกเดินทางจากกัมพูชากลับมายังประเทศไทย เดินข้ามเขตด้าน จ.สุรินทร์ สู่ จ.นครราชสีมา กลับบ้านเกิดที่บ้านไร่ จากนั้นจึงเริ่มดําเนินการก่อสร้างถาวรวัตถุทางพระพุทธศาสนา โดยเริ่มสร้างอุโบสถ พ.ศ. 2496 โรงเรียน กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ รวมทั้งขุดสระน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคทำให้คุณภาพชีวิตของชาวบ้านโดยรอบดีขึ้นด้วย

หลวงพ่อคูณเป็นพระที่มีชื่อเสียงเรื่องการสร้างวัตถุมงคล ซึ่งท่านได้สร้างวัตถุมงคลมาตั้งแต่บวชได้ 7 พรรษา โดยเริ่มทําวัตถุมงคลซึ่งเป็นตะกรุดโทน ตะกรุดทองคํา "ใครขอกูก็ให้ ไม่เลือกยากดีมีจน" เป็นคํากล่าวของท่าน

เมื่อปี 2556 หลวงพ่อคูณเคยอาพาธด้วยอาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และมีอาการหลอดลมอักเสบติดเชื้ออย่างรุนแรง จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาจนอาการดีขึ้นก่อนจะกลับไปรักษาตัวที่วัดบ้านไร่ โดยมีคณะแพทย์เฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาอาการอาพาธของหลวงพ่อคูณมีทั้งทรงตัวและแย่ลง จนกระทั่งมีอาการหมดสติเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2558

ต่อมาวันที่ 16 พ.ค. 2558 เมื่อเวลา 10.00 น. คณะแพทย์รายงานผลว่าการเฝ้าตรวจติดตามอาการอาพาธของหลวงพ่อคูณ มีภาวะแทรกซ้อนเพิ่มขึ้นจากการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ทำให้เลือดออกในช่องอก ส่งผลให้ระบบการหายใจล้มเหลว ภาวะหัวใจหยุดเต้น คณะแพทย์ได้ทำการช่วยฟื้นคืนชีพ สำหรับภาวะไตไม่ทำงานได้ให้การรักษาโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ขณะนี้อาการโดยรวมทรุดลง จนกระทั่งเวลา 11.45 น. หลวงพ่อคูณ ได้มรณภาพด้วยอาการสงบ

15 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 วันคล้ายวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ‘ในหลวง ร.4’ กษัตริย์ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย

วันนี้ในอดีต 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เมื่อครั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 พระราชวงศ์และเสนาบดีมีมติเห็นชอบให้ถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ จึงได้ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ไปเฝ้าเจ้าฟ้ามงกุฎ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร แต่พระองค์ตรัสว่า ถ้าจะถวายพระราชสมบัติแก่พระองค์จะต้องอัญเชิญสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ขึ้นครองราชย์ด้วย เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นว่าเป็นผู้ที่มีพระชะตาแรง ต้องได้เป็นพระมหากษัตริย์

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น พระองค์ได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า ‘พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ และมีพระนามตามจารึกในพระสุบรรณบัฏว่า…

"พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎสุทธิ สมมุติเทพยพงศวงศาดิศรกษัตริย์ วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธิเคราะหณี จักรีบรมนาถ อดิศวราชรามวรังกูร สุจริตมูลสุสาธิตอุกฤษฐวิบูลย บุรพาดูลยกฤษฎาภินิหารสุภาธิการรังสฤษดิ ธัญญลักษณ วิจิตรโสภาคสรรพางค์ มหาชโนตมางคประนตบาทบงกชยุคคล ประสิทธิสรรพสุภผลอุดม บรมสุขุมาลยมหาบุรุษยรัตน ศึกษาพิพัฒนสรรพโกศล สุวิสุทธิวิมลศุภศีลสมาจารย์ เพ็ชรญาณประภาไพโรจน์ อเนกโกฏิสาธุ คุณวิบุลยสันดาน ทิพยเทพวตาร ไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์เอกอัครมหาบุรุษ สุตพุทธมหากระวี ตรีปิฎกาทิโกศล วิมลปรีชามหาอุดมบัณฑิต สุนทรวิจิตรปฏิภาณ บริบูรณ์คุณสาร สัสยามาทิโลกยดิลก มหาปริวารนายกอนันต์ มหันตวรฤทธิเดช สรรพพิเศษ สิรินธรมหาชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปดลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเศกาภิษิต สรรพทศทิศวิชิตวิไชย สกลมไหศวรินมหาสยามินทร มเหศวรมหินทร มหาราชาวโรดม บรมนารถชาติอาชาวศรัย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อุกฤษฐศักดิอัครนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการสกลไพศาลมหารัษฎาธิเบนทร ปรเมนทรธรรมมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบรมบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "

พร้อมกันนี้ พระองค์ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลมีพระราชพิธีบวรราชาภิเษกและทรงรับพระบวรราชโองการ ให้พระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 2 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนในฝ่ายสมณศักดิ์นั้น พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนุชิตชิโนรส โดยมหาสมณุตมาภิเษกขึ้นเป็น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระสังฆราช เป็นต้น

ทั้งนี้ พระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านที่มีต่อการสร้างสรรค์ชาติไทยสามารถสรุปได้ดังนี้…

>> 1. ด้านวรรณคดีศาสนา
1.1 พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่ทำนุบำรุงเป็นอย่างดี พระราชนิพนธ์ส่วนใหญ่เป็นประเภทร้อยแก้ว บทพระราชนิพนธ์ที่สำคัญ ได้แก่
1.1.1 มนุมพระบรมราโชบาย 4 หมวด คือ หมวดวรรณคดี โบราณคดี ธรรมคดี และตำรา
1.1.2 ตำนานเรื่อง พระแก้วมรกต เรื่องปฐมวงศ์
1.1.3 ทรงริเริ่มให้มีการค้นคว้าศิลาจาลึกในประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรก คือ จารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหง และจารึกหลักที่ 4 ของพระยาลิไทย

>> 2. ด้านวิทยาศาสตร์ 
2.1. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักดาราศาสตร์ไทย ทรงการคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงได้อย่างแม่นยำ ในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2411 ล่วงหน้า 2 ปี และได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมเชิญทูตฝรั่งเศสและสิงคโปร์ทอดพระเนตรสุริยุปราคาครั้งนั้น นอกจากนี้ พระปรีชาสามารถของพระองค์ในด้านวิทยาศาสตร์นั้น ยังทำให้พระองค์ได้รับการยกย่องเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสัตววิทยาสมาคมแห่งสหราชาอาณาจักรอีกด้วย
2.2. วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2525 รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสุลานนท์ ประกาศยกย่องพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็น ‘พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย’ และอนุมัติให้วันที่ 18 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ

>> 3.ด้านดาราศาสตร์
3.1. ทรงเป็นนักโหราศาสตร์อีกด้วย ทรงแต่งตำราทางโหราศาสตร์ที่เรียกว่า ‘เศษพระจอมเกล้า’ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตำราที่ได้รับการยอมรับว่าแม่นยำและทรงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติว่าทรงเป็น ‘พระบิดาแห่งโหราศาสตร์ไทย’

14 พฤษภาคม ของทุกปี ครม.มีมติกำหนดให้เป็น ‘วันอนุรักษ์ควายไทย’ สัตว์ที่มีส่วนช่วยในการดำรงชีพของคนไทยมายาวนาน

ควายไทยถือเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญกับภาคเกษตรกรรมของไทยมาอย่างช้านาน คนไทยเทียมควายไถนามาตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ทวด ด้วยความที่เป็นสัตว์ที่มีความอดทน ทนแดด ทนร้อน ทนสภาพอากาศแห้งแล้งได้ ทำให้กลายเป็นเครื่องมือไถนาชั้นดี ก่อนที่จะมีรถไถเกิดขึ้นมา นอกจากนี้แล้วการเดินทางในสมัยก่อนก็ยังใช้ควายเทียมเกวียน เพื่อทุ่นแรงในการเดินทางไกลอีกด้วย แต่ปัจจุบันควายไทยถูกลดความสำคัญลง จนกลายเป็นเพียงสัตว์เลี้ยงเท่านั้น

สถานการณ์ควายไทยทุกวันนี้ โดยเฉพาะควายป่ามีความน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งจากจำนวนประชากรที่เหลือเพียงน้อยนิด ควายป่าในประเทศไทยพบได้แค่ที่บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี เพียงแห่งเดียว ซึ่งควายป่าจะชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงและชอบอาศัยอยู่ใกล้ลำห้วยเพราะจะได้แช่ปลักโคลนเพื่อระบายความร้อน

ควายป่าจะมีลักษณะทั่วไปคล้ายควายบ้าน แต่รูปร่างดูโตกว่า เขาโค้งไปข้างหลังเหมือนควายบ้าน แต่ขนาดของวงเขาจะกว้างกว่า บริเวณฐานคอมีสีขาวเป็นรูปตัววี ขาทั้ง 4 ข้างมีสีขาวเทาคล้ายสวมถุงเท้า

โดยเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2560 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 14 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น ‘วันอนุรักษ์ควายไทย’ เนื่องจากเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชดำรัส ถึงหลักการดำเนินโครงการธนาคารโค กระบือ เป็นครั้งแรก

13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ‘พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล’ ถูกลอบยิงจนเสียชีวิต ขณะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ‘เสธ.แดง’ หรือ พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล ถูกลอบยิงขณะกำลังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่างประเทศ และเสียชีวิต 4 วันต่อมา

สำหรับเหตุการณ์ลอบยิงเกิดขึ้นบริเวณทางขึ้นลงรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีสีลม ฝั่งสวนลุมพินี บริเวณแยกศาลาแดง เมื่อเวลาประมาณ 19.20 น. ของวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 โดยได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการถูกยิงด้วยกระสุนจากพลซุ่มยิงมุมสูงเข้าที่ศีรษะท้ายทอยด้านขวา และทะลุท้ายทอยด้านซ้าย ซึ่งกลุ่มคนเสื้อแดงได้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลหัวเฉียว หลังจากนั้นทางญาติจึงตัดสินใจย้ายไปรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาลในกลางดึกของวันเดียวกัน โดยทางแพทย์ผู้ให้การรักษาได้ให้เหตุผลว่าทางวชิรพยาบาลมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เพียบพร้อมกว่า อาการของ พลตรีขัตติยะ อยู่ในสภาพทรงตัวมาตลอดจนกระทั่งเสียชีวิตด้วยภาวะไตวายเฉียบพลันเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 เวลา 09.20 น. โดยมีกำหนดการพระราชทานเพลิงศพ พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ที่วัดโสมนัสราชวรวิหาร ในวันที่ 22 มิถุนายน 2553 เวลา 17.00 น.

12 พฤษภาคม ของทุกปี ‘สภาพยาบาลระหว่างประเทศ’ กำหนดให้เป็น ‘วันพยาบาลสากล’ ระลึก ‘มิสฟลอเรนซ์ ไนติงเกล’ ผู้กำเนิดวิชาชีพพยาบาล

สภาพยาบาลระหว่างประเทศ (International Council of Nurses, ICN) ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพพยาบาล ได้กำหนดให้วันที่ 12 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันพยาบาลสากล (International Nurses Day) โดยเริ่มครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2514 (ค.ศ. 1971)

ทั้งนี้เนื่องจากวันที่ 12 พฤษภาคม เป็นวันเกิดของ ‘มิสฟลอเรนซ์ ไนติงเกล’ ผู้ก่อกำเนิดวิชาชีพการพยาบาล เป็นผู้ที่มีอุดมการณ์ ตั้งใจบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เพื่อมวลมนุษย์อย่างแท้จริง จนได้รับการยกย่องและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

สำหรับวัตถุประสงค์มีเพื่อสดุดีคุณงามความดีของ ‘มิสฟลอเรนซ์ ไนติงเกล’ ที่ทำประโยชน์อย่างมากมายให้แก่มวลมนุษย์ รวมทั้งเพื่อเป็นการยกย่อง ให้เกียรติ และเชิดชูเป็นต้นแบบ อีกทั้งยังมีจุดมุ่งหมายให้พยาบาลทั่วโลก ร่วมมือจัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์แก่สาธารณชน และกำหนดแนวทางเพื่อให้พยาบาลทั่วโลกรณรงค์แก้ไขปัญหาสุขภาพในแต่ละปี

11 พฤษภาคม พ.ศ. 2354 ถือกำเนิด ‘อิน-จัน’ แฝดสยามคู่แรกของไทย ที่สามารถดำรงชีพเหมือนคนธรรมดาได้ตลอดชีวิต

รู้หรือไม่ ทุกวันที่ 11 พฤษภาคม เป็นวันเกิดของ ‘อิน-จัน’ แฝดสยามคู่แรกของไทยที่มีหน้าอกติดกันและใช้ตับร่วมกันใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป โดย ‘อิน-จัน’ เป็นชื่อของฝาแฝดสยามที่มีชื่อเสียงทั่วโลก โดยคำว่า ‘แฝดสยาม’ เนื่องจากเกิดที่ประเทศไทย โดยในสมัยนั้นยังใช้ว่าประเทศสยาม ซึ่งเป็นฝาแฝดที่มีหน้าอกติดกันและใช้ตับร่วมกัน เป็นฝาแฝดคู่แรกของโลกที่สามารถดำรงชีพเหมือนคนธรรมดาได้ตลอดชีวิต

ทั้งนี้ อิน-จัน เกิดวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2354 ซึ่งอยู่ในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โดยเกิดในครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีน ที่จังหวัดสมุทรสงคราม บิดาเป็นชาวจีนอพยพมาแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มารดาเป็นคนไทย ซึ่งฝาแฝดอิน-จัน สามารถเติบโตและใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ แตกต่างไปจากแฝดติดกันคู่อื่น ๆ ที่มักเสียชีวิตหลังคลอดได้ไม่นาน ซึ่งตามกฎหมายในเวลานั้น ทั้งคู่ต้องถูกประหารชีวิตเนื่องจากความเชื่อที่ว่าเป็นตัวกาลกิณี แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่ได้มีเหตุการณ์ใด ๆ ตามความเชื่อ โทษนั้นจึงได้รับการยกเลิก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2367 ความพิเศษของ อิน-จัน ทราบไปถึงพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นางนาก และ อิน-จัน เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และได้มีพระบรมราชานุญาตให้ อิน-จัน ได้เดินทางร่วมไปกับคณะทูตเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศเวียดนาม

จากนั้น ในปี พ.ศ. 2367 นายโรเบิร์ต ฮันเตอร์ พ่อค้าชาวอังกฤษ หรือที่คนไทยสมัยนั้นเรียกว่า ‘นายหันแตร’ ได้นั่งเรือผ่านแม่น้ำแม่กลอง และได้พบแฝดคู่นี้กำลังว่ายน้ำเล่นอยู่ ด้วยความประหลาดและน่าสนใจ นายฮันเตอร์จึงคิดที่จะนำฝาแฝดคู่นี้ไปแสดงโชว์ตัวที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงเข้าทำความสนิทสนมกับครอบครัวของฝาแฝดอยู่นานนับปี จนพ่อแม่ของทั้งคู่ไว้วางใจ จนกระทั่งในที่สุดนายอาเบล คอฟฟิน กัปตันเรือสินค้าซึ่งขณะนั้นได้เข้ามาทำการค้าในประเทศไทยก็ได้นำตัว อิน-จัน เดินทางจากประเทศไทยไปยังเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งในขณะนั้น อิน-จัน มีอายุได้ 18 ปี 

10 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 รำลึก 31 ปี ไฟไหม้ ‘โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์’ หลังคร่าชีวิต 188 ราย โศกนาฏกรรมที่ทำให้รัฐต้องกำหนดเป็น ‘วันความปลอดภัยแห่งชาติ’

ครบรอบ 31 ปี โศกนาฏกรรมครั้งร้ายแรง กับเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาเคเดอร์ ย่านพุทธมณฑล สาย 4 คร่าชีวิตผู้คนรวม 188 ราย

เหตุเพลิงไหม้โรงงานเคเดอร์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 เวลา 16.00 น. ที่ โรงงานของบริษัท เคเดอร์อินดัสเตรียล ไทยแลนด์ จำกัด ถนนพุทธมณฑล สาย 4 อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นโรงงานผลิตสินค้าของเล่นสำหรับเด็กส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น ตุ๊กตา เป็นต้น นับเป็นเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงงานที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่ง โดยมีผู้เสียชีวิตรวม 188 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีก 469 คน 

ก่อนหน้านี้ โรงงานของเล่นดังกล่าว เคยเกิดเพลิงไหม้อาคารแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2532 เพลิงไหม้บริเวณชั้น 3 อาคารได้รับความเสียหายมาก สาเหตุเกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้าเสื่อมไฟฟ้าลัดวงจร ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534 เพลิงไหม้ที่โรงเก็บตุ๊กตา และครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 เกิดเพลิงไหม้อาคารหลังที่ 3 ชั้น 2 และชั้น 3 ทำให้สินค้าได้รับความเสียหาย

จากการสืบสวน พบว่าเพลิงไหม้ครั้งนี้เกิดจากการก่อสร้างที่ไม่ได้ตามมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรม และไม่มีการซักซ้อมการรับมือกับอัคคีภัยให้แก่พนักงาน ภายหลังเกิดเพลิงไหม้ ประมาณ 15 นาที โรงงานก็ได้ยุบตัวพังทลายลงมา นอกจากนี้ยังพบว่า โรงงานดังกล่าวไม่ได้สร้างบันไดหนีไฟ หรือสำรองเอาไว้ ประตูทางเข้า-ออกมีน้อย และคับแคบเกินกว่ากฎหมายกำหนด ไม่มีระบบการเตือนภัยที่สมบูรณ์และได้มาตรฐาน 

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตจำนวนมาก เนื่องจากพนักงานรักษาความปลอดภัยได้ปิดประตูโรงงาน เพราะกลัวคนงานจะขโมยทรัพย์สินในอาคาร เจ้าหน้าที่ระบุว่าสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้เกิดจากคนงานทิ้งก้นบุหรี่ไว้ แล้วเกิดการติดไฟกับผ้าในโรงงาน

สืบเนื่องจากเหตุการณ์นี้ รัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปี เป็น ‘วันความปลอดภัยแห่งชาติ’ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2540

9 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ‘ไทย-ฝรั่งเศส’ ลงนามอนุสัญญาสันติภาพระหว่างกัน ณ กรุงโตเกียว ทำให้ไทยได้ดินแดนบางส่วนกลับคืน หลังสิ้นสุดข้อพิพาทสงครามอินโดจีน

วันนี้ในอดีต เมื่อ 83 ปีก่อน ไทยกับฝรั่งเศส ลงนามในอนุสัญญาสันติภาพระหว่างกันที่กรุงโตเกียว หลังสิ้นสุดกรณีพิพาทสงครามอินโดจีน เป็นผลทำให้ไทยได้ดินแดนฝั่งขวาของหลวงพระบาง จำปาศักดิ์ ศรีโสภณ พระตะบอง และดินแดนในกัมพูชาคืนมาจากฝรั่งเศส

แต่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ไทยมีความจำเป็นต้องเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ จึงต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของประเทศมหาอำนาจและฝรั่งเศสที่เป็นฝ่ายชนะสงคราม นำไปสู่ความตกลงระงับกรณีระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ที่เรียกกันว่า 'ความตกลงวอชิงตัน' มีผลให้อนุสัญญากรุงโตเกียวสิ้นสุดลง โดยไทยต้องคืนดินแดน อินโดจีน ที่ได้มาทั้งหมดให้กับประเทศฝรั่งเศสตามเดิม

ทั้งนี้ เพื่อเทิดทูนวีรกรรมของทหาร ตำรวจ และพลเรือนที่เสียชีวิตไปในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เรื่องการปรับปรุงพรมแดนไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส ซึ่งมีผู้เสียชีวิต จึงมีการสร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิขึ้นจนถึงในปัจจุบัน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top